วันพฤหัสบดีที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

การประกันคุณภาพการศึกษา

การประกันคุณภาพการศึกษา
โดย รุ่งทิวา เกษกุล
รหัสประจำตัว 2502500404

การศึกษาเป็นรากฐานสำคัญประการหนึ่งในการสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในสังคม เนื่องจากการศึกษาเป็นกระบวนการที่จะช่วยให้คนได้พัฒนาตนเองด้านต่าง ๆ ตลอดช่วงชีวิตสามารถพัฒนาศักยภาพและความสามารถด้านต่าง ๆ ที่จะดำรงชีวิต และประกอบอาชีพได้อย่างมีความสุข รัฐเห็นความสำคัญของการศึกษา ในปี พ.ศ.2542 จึงได้ตราพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ เพื่อให้การจัดการศึกษาเป็นไปเพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้และคุณธรรม มีจริยธรรม และวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข โดยยึดหลักการจัดการศึกษา 3 ประการ คือ 1) เป็นการศึกษาตลอดชีวิตสำหรับประชาชน 2) ให้สังคมมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา และ 3) พัฒนาสาระกระบวนการเรียนรู้ให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง มีการกระจายอำนาจไปสู่เขตพื้นที่การศึกษา สถานศึกษา และองค์กรปกครองท้องถิ่น รวมทั้งการกำหนดมาตรฐาน และจัดระบบการประกันคุณภาพการศึกษาทุกระดับและประเภทการศึกษา
การประกันคุณภาพการศึกษาหมายถึงกิจกรรมหรือแนวปฏิบัติที่จำเป็นต้องดำเนินการเพื่อประกันว่าคุณภาพของการศึกษาได้รับการรักษาไว้ และส่งเสริมเพื่มพูน การประกันการศึกษาจึงรวมถึงกิจกรรมหรือแนวปฏิบัติใดๆที่หากได้ดำเนินการตามระบบและแผนที่ได้วางไว้แล้ว จะทำให้เกิดความมั่นใจว่าจะได้ผลผลิตของการศึกษาที่มีคุณภาพตามคุณลักษณะที่พึงประสงค์(ทบวงมหาวิทยาลัย 2541) ดังนั้นการประกันคุณภาพการศึกษาจึงเป็นกิจกรรมสำคัญในกระบวนการการจัดการศึกษาทุกระดับ ซึ่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542
ได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนถึงความมุ่งหมายและหลักการของการจัดการศึกษาที่ต้องมุ่งเน้นคุณภาพและมาตรฐาน โดยกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับการประกันคุณภาพการศึกษา ไว้ในหมวด 6 ว่าด้วยมาตรฐานและการประกันคุณภาพการศึกษา ให้หน่วยงานต้นสังกัดและสถานศึกษาจัดให้มีการประกันคุณภาพในสถานศึกษา จึงถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการบริหารการศึกษาที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง มีการจัดทำรายงานเสนอต่อหน่วยงาน
ที่เกี่ยวข้องและเปิดเผยต่อสาธารณชนเป็นประจำทุกปี เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา และเพื่อรองรับการประกันคุณภาพภายนอกโดยสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพภายนอก ซึ่งเป็นองค์กรมหาชนเพื่อให้มีการตรวจสอบคุณภาพของสถานศึกษาอย่างน้อย 1 ครั้ง ในทุกระยะ 5 ปี ซึ่งระบบการประกันคุณภาพการศึกษา จำแนกได้เป็น 2 ส่วน คือ การประกันคุณภาพภายในและการประกันคุณภาพภายนอก
การประกันคุณภาพภายใน เป็นระบบการประกันคุณภาพงานที่สถาบันการศึกษาหรือหน่วยงานต้นสังกัดของสถาบันการศึกษา เป็นผู้ดำเนินการเอง เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่ากิจกรรมที่ทำคือ การจัดการเรียนการสอน และผลผลิตของสถานศึกษาเป็นไปตามคุณภาพที่พึงประสงค์ ตามที่สถาบันการศึกษา นั้นๆ ได้ตั้งไว้ เป็นการประเมินผลและการติดตามตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษาจากภายใน โดยบุคลากรของสถานศึกษาขึ้นเอง โดยหน่วยงานต้นสังกัดที่มีหน้าที่กำกับดูแลสถานศึกษานั้น เป็นการเตรียมพร้อมก่อนที่จะให้องค์กรภายนอกเข้ามาตรวจสอบประเมินและรับรองมาตรฐาน โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้
1. เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ช่วยในการปรับปรุงการดำเนินงานของสถาบันการศึกษาให้เป็นไปในทิศทางที่ต้องการ
2. เพื่อทราบผลการดำเนินงานว่าบรรลุวัตถุประสงค์ตามเป้าหมายที่วางไว้มากน้อยเพียงใด
3. เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ช่วยในการวางแผนหรือพัฒนาปรับปรุงการดำเนินงานให้มีคุณภาพตามเป้าหมายที่กำหนดมากยิ่งขึ้น
4. เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ช่วยในการตัดสินอนาคตของโครงการ หน่วยงานหรือการดำเนินงานในกิจกรรรมต่าง ๆ ของสถาบันการศึกษา
การประกันคุณภาพภายนอก เป็นการตรวจสอบผลที่ได้จากการประเมินตนเองของสถานศึกษา เป็นการดำเนินงานโดยหน่วยงานภายนอกที่ได้รับมอบหมายจากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) มาทำการตรวจสอบประเมินการดำเนินงานของสถานศึกษา โดยคณะผู้เชี่ยวชาญที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ของ สมศ. เพื่อรับรองคุณภาพการดำเนินงานตามผลการรายงานการประเมินภายในของสถานศึกษาเพื่อให้มีการพัฒนาคุณภาพที่สามารถสนองตอบความต้องการของชุมชนท้องถิ่นและสังคมในระดับประเทศได้ โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้
1. เพื่อตรวจสอบ ยืนยันสภาพจริงในการดำเนินงานของสถานศึกษาและประเมินคุณภาพการศึกษาตามมาตรฐานการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ ตามกรอบแนวทางและวิธีการที่ สมศ. กำหนดและสอดคล้องกับระบบการประกันคุณภาพของสถานศึกษาและหน่วยงานต้นสังกัด
2. เพื่อให้ได้ข้อมูลซึ่งสะท้อนให้เห็นจุดเด่น-จุดด้อยของสถานศึกษา เงื่อนไขของความสำเร็จและสาเหตุของปัญหา
3. เพื่อช่วยเสนอแนะแนวทางปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพการศึกษา แก่สถานศึกษาและหน่วยงานต้นสังกัด
4. เพื่อส่งเสริมให้สถานศึกษามีการพัฒนาคุณภาพและประกันคุณภาพภายในอย่างต่อเนื่อง
5. เพื่อรายงานผลการประเมินคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษาต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสาธารณชน
โดยคาดหวังว่าเมื่อผ่านกระบวนการประกันคุณภาพภายนอกแล้ว สถานศึกษาจะมีการพัฒนาเข้าสู่เกณฑ์มาตรฐานและพัฒนาตนเองให้เต็มตามศักยภาพอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเพิ่มความมั่นใจการคุ้มครองประโยชน์ให้ผู้รับบริการทางการศึกษาว่าสถานศึกษาได้จัดการศึกษามุ่งสู่
คุณภาพตามมาตรฐานการศึกษาที่เน้นให้ผู้เรียนเป็นคนดี มีความสามารถและมีความสุข นอกจากนี้สถานศึกษาและหน่วยงานที่กำกับดูแล รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและชุมชนท้องถิ่น มีข้อมูลที่จะช่วยตัดสินใจ ในการวางแผนและดำเนินการเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษาให้เป็นไปในทิศทางที่ต้องการและบรรลุเป้าหมายที่วางไว้
สำหรับกระบวนการดำเนินงานการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา ประกอบด้วยกิจกรรมต่าง ๆ ดังนี้
1. การเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร และทรัพยากรอื่น ๆ รวมทั้งตั้งคณะทำงานการประเมินผลภายในสถานศึกษาและกำหนดบทบาทหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ
2. การศึกษาสภาพและผลการดำเนินงานของสถานศึกษา
3. การทำความเข้าใจกับบุคลากรในสถานศึกษาเกี่ยวกับสภาพและผลการดำเนินงานของสถานศึกษา
4. การกำหนดวัตถุประสงค์ของการประเมิน มาตรฐานและตัวบ่งชี้ที่ใช้ในการประเมิน
5. การกำหนดกระบวนการประเมิน
6. การกำหนดเกณฑ์การประเมิน
7. การกำหนดวิธีการที่ใช้ในการประเมิน
8. การวิเคราะห์ข้อมูล

9. การวิเคราะห์จุดแข็งจุดอ่อนของสถานศึกษา
10. แนวทางการพัฒนาสถานศึกษา
11. การทำรายงานผลการประเมินตนเอง
12. การใช้ประโยชน์จากการประเมินตนเอง
ในส่วนของการดำเนินงานการประกันคุณภาพภายนอก เป็นกระบวนการที่คณะ
ผู้ประเมินภายนอกจะรวบรวมและศึกษาข้อมูลจากรายงานผลการประเมินตนเองของสถานศึกษา ซึ่งเสนอต่อ สมศ. แล้วเข้าไปตรวจสอบการประเมินคุณภาพ ของสถานศึกษารวมทั้งให้ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากการประเมินเพื่อให้สถานศึกษาใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพของสถานศึกษาอย่างต่อเนื่อง แล้วจัดทำรายงานผลการประเมินเผยแพร่ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสาธารณชน การประเมินคุณภาพภายนอกจึงประกอบด้วยขั้นตอนใหญ่ ๆ 3 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนก่อนการตรวจเยี่ยมสถานศึกษา ระหว่างการตรวจเยี่ยมสถานศึกษาและหลังการตรวจเยี่ยมสถานศึกษา
การประกันคุณภาพการศึกษาในระยะที่ผ่านมาได้มีการจัดตั้งองค์กรอิสระ คือ สำนักงานรับรองมาตรฐานและการประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์กรมหาชน) หรือ สมศ. เพื่อรับผิดชอบประสานงานการประกันคุณภาพสถานศึกษาทุกระดับ โดยแบ่งการดำเนินงานเป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ คือ การประกันคุณภาพศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นการพัฒนาระบบและเกณฑ์การประเมินคุณภาพภายนอก ใช้มาตรฐาน 27 มาตรฐาน 91 ตัวบ่งชี้ ซึ่งสภาพการดำเนินการประกันคุณภาพ
การศึกษาขั้นพื้นฐานมีความชัดเจนและก้าวหน้าไปมาก โดย สมศ. กำหนดให้ภายในปี 2548
ทุกสถานศึกษาต้องได้รับการประเมินภายนอกรอบแรก ใน 14 มาตรฐาน 53 ตัวบ่งชี้ และการประกันคุณภาพการศึกษาระดับอุดมศึกษา ซึ่งมี 2 ระดับ คือ การประกันคุณภาพการศึกษา
ระดับอุดมศึกษา(ระดับปริญญา) ใช้มาตรฐานในการประเมินภายนอก 8 มาตรฐาน 28 ตัวบ่งชี้และการประกันคุณภาพการศึกษาระดับอุดมศึกษาต่ำกว่าปริญญาใช้มาตรฐานในการประเมินภายนอก 8 มาตรฐาน 30 ตัวบ่งชี้ ปัจจุบันการดำเนินการประกันคุณภาพการศึกษาระดับอุดมศึกษา กำลังดำเนินไปอย่างมีหลักการเป็นระบบโดย สมศ. มีแผนว่าในรุ่นแรกจะทำการประเมินสถาบันอุดมศึกษา จำนวน 150 แห่ง โดยเป็นสถาบันอุดมศึกษาระดับต่ำกว่าปริญญา จำนวน 100 แห่ง และสถาบันการศึกษาอุดมศึกษาระดับปริญญา จำนวน 50 แห่ง
การประกันคุณภาพการศึกษาซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหญ่สำหรับวงการศึกษาไทย ในระยะเริ่มต้นอาจมีปัญหาการดำเนินงานหลายประการ ปัญหาที่สำคัญ ๆ เช่น ปัญหาด้านวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการประกันคุณภาพการศึกษาของผู้เกี่ยวข้อง ปัญหาเกี่ยวกับเทคนิควิธีการประเมิน รวมทั้งปัญหาด้านความพร้อมของปัจจัยเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานประกันคุณภาพการศึกษาในสถานศึกษา สภาพปัญหาจะมีมากน้อยแปรเปลี่ยนไปตามสภาวะแวดล้อมของสถานศึกษาแต่ละแห่ง
การดำเนินการประกันคุณภาพการศึกษาในประเทศไทย ได้ผ่านมาระยะหนึ่งท่ามกลางความตื่นตัวเป็นอย่างมากของสถานศึกษา หากพิจารณาสภาพและแนวโน้มของการประกันคุณภาพการศึกษา ซึ่งสถานศึกษาต่าง ๆจะต้องเข้าสู่ยุคของการแข่งขันแบบเสรีมากขึ้น ทุกหน่วยงานจะต้องเน้นการประกันคุณภาพ เพื่อความอยู่รอดและเพิ่มประสิทธิภาพของสถานศึกษาของตน หน่วยงานทางการศึกษาให้ความสำคัญต่อการประกันคุณภาพการศึกษามากขึ้น ผู้เกี่ยวข้องมีการใช้ประโยชน์จากผลประเมินมากขึ้น การดำเนินงานประกันคุณภาพการศึกษาจะเข้าไปสู่หน่วยงานที่เล็กลง มีการพัฒนาระบบประกันคุณภาพให้เหมาะสมกับแต่ละหน่วยงานชุมชนเข้ามามีบทบาทในการดำเนินงานประกันคุณภาพมากขึ้น เป็นผลดีต่อการระดมทรัพยากรที่มีในท้องถิ่นมาใช้ในการพัฒนาการจัดการศึกษา
สรุป ที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า การประกันคุณภาพการศึกษาเป็นกิจกรรมหรือแนวปฏิบัติ เพื่อควบคุมคุณภาพการศึกษา เพื่อพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาทุกระดับ ประกอบด้วยการประกันคุณภาพภายในและการประกันคุณภาพภายนอก ในการประกันคุณภาพการศึกษา ให้มีการจัดตั้งองค์กรอิสระ คือ สำนักงานรับรองมาตรฐานและการประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์กรมหาชน) หรือ สมศ. เพื่อรับผิดชอบประสานงานการประกันคุณภาพสถานศึกษาทุกระดับมีการกำหนดมาตรฐานและตัวบ่งชี้เพื่อให้สถานศึกษาใช้เป็นมาตรฐานในการประเมิน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของสถานศึกษาของตน สถานศึกษาต่าง ๆ ให้ความสำคัญกับการประกันคุณภาพมากขึ้น เริ่มมีการใช้ประโยชน์จากผลการประเมินมากขึ้น มีการพัฒนาการประกันคุณภาพให้เหมาะสมกันแต่ละหน่วยงาน