วันพฤหัสบดีที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

การประกันคุณภาพการศึกษา

การประกันคุณภาพการศึกษา
โดย รุ่งทิวา เกษกุล
รหัสประจำตัว 2502500404

การศึกษาเป็นรากฐานสำคัญประการหนึ่งในการสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในสังคม เนื่องจากการศึกษาเป็นกระบวนการที่จะช่วยให้คนได้พัฒนาตนเองด้านต่าง ๆ ตลอดช่วงชีวิตสามารถพัฒนาศักยภาพและความสามารถด้านต่าง ๆ ที่จะดำรงชีวิต และประกอบอาชีพได้อย่างมีความสุข รัฐเห็นความสำคัญของการศึกษา ในปี พ.ศ.2542 จึงได้ตราพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ เพื่อให้การจัดการศึกษาเป็นไปเพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้และคุณธรรม มีจริยธรรม และวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข โดยยึดหลักการจัดการศึกษา 3 ประการ คือ 1) เป็นการศึกษาตลอดชีวิตสำหรับประชาชน 2) ให้สังคมมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา และ 3) พัฒนาสาระกระบวนการเรียนรู้ให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง มีการกระจายอำนาจไปสู่เขตพื้นที่การศึกษา สถานศึกษา และองค์กรปกครองท้องถิ่น รวมทั้งการกำหนดมาตรฐาน และจัดระบบการประกันคุณภาพการศึกษาทุกระดับและประเภทการศึกษา
การประกันคุณภาพการศึกษาหมายถึงกิจกรรมหรือแนวปฏิบัติที่จำเป็นต้องดำเนินการเพื่อประกันว่าคุณภาพของการศึกษาได้รับการรักษาไว้ และส่งเสริมเพื่มพูน การประกันการศึกษาจึงรวมถึงกิจกรรมหรือแนวปฏิบัติใดๆที่หากได้ดำเนินการตามระบบและแผนที่ได้วางไว้แล้ว จะทำให้เกิดความมั่นใจว่าจะได้ผลผลิตของการศึกษาที่มีคุณภาพตามคุณลักษณะที่พึงประสงค์(ทบวงมหาวิทยาลัย 2541) ดังนั้นการประกันคุณภาพการศึกษาจึงเป็นกิจกรรมสำคัญในกระบวนการการจัดการศึกษาทุกระดับ ซึ่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542
ได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนถึงความมุ่งหมายและหลักการของการจัดการศึกษาที่ต้องมุ่งเน้นคุณภาพและมาตรฐาน โดยกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับการประกันคุณภาพการศึกษา ไว้ในหมวด 6 ว่าด้วยมาตรฐานและการประกันคุณภาพการศึกษา ให้หน่วยงานต้นสังกัดและสถานศึกษาจัดให้มีการประกันคุณภาพในสถานศึกษา จึงถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการบริหารการศึกษาที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง มีการจัดทำรายงานเสนอต่อหน่วยงาน
ที่เกี่ยวข้องและเปิดเผยต่อสาธารณชนเป็นประจำทุกปี เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา และเพื่อรองรับการประกันคุณภาพภายนอกโดยสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพภายนอก ซึ่งเป็นองค์กรมหาชนเพื่อให้มีการตรวจสอบคุณภาพของสถานศึกษาอย่างน้อย 1 ครั้ง ในทุกระยะ 5 ปี ซึ่งระบบการประกันคุณภาพการศึกษา จำแนกได้เป็น 2 ส่วน คือ การประกันคุณภาพภายในและการประกันคุณภาพภายนอก
การประกันคุณภาพภายใน เป็นระบบการประกันคุณภาพงานที่สถาบันการศึกษาหรือหน่วยงานต้นสังกัดของสถาบันการศึกษา เป็นผู้ดำเนินการเอง เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่ากิจกรรมที่ทำคือ การจัดการเรียนการสอน และผลผลิตของสถานศึกษาเป็นไปตามคุณภาพที่พึงประสงค์ ตามที่สถาบันการศึกษา นั้นๆ ได้ตั้งไว้ เป็นการประเมินผลและการติดตามตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษาจากภายใน โดยบุคลากรของสถานศึกษาขึ้นเอง โดยหน่วยงานต้นสังกัดที่มีหน้าที่กำกับดูแลสถานศึกษานั้น เป็นการเตรียมพร้อมก่อนที่จะให้องค์กรภายนอกเข้ามาตรวจสอบประเมินและรับรองมาตรฐาน โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้
1. เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ช่วยในการปรับปรุงการดำเนินงานของสถาบันการศึกษาให้เป็นไปในทิศทางที่ต้องการ
2. เพื่อทราบผลการดำเนินงานว่าบรรลุวัตถุประสงค์ตามเป้าหมายที่วางไว้มากน้อยเพียงใด
3. เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ช่วยในการวางแผนหรือพัฒนาปรับปรุงการดำเนินงานให้มีคุณภาพตามเป้าหมายที่กำหนดมากยิ่งขึ้น
4. เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ช่วยในการตัดสินอนาคตของโครงการ หน่วยงานหรือการดำเนินงานในกิจกรรรมต่าง ๆ ของสถาบันการศึกษา
การประกันคุณภาพภายนอก เป็นการตรวจสอบผลที่ได้จากการประเมินตนเองของสถานศึกษา เป็นการดำเนินงานโดยหน่วยงานภายนอกที่ได้รับมอบหมายจากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) มาทำการตรวจสอบประเมินการดำเนินงานของสถานศึกษา โดยคณะผู้เชี่ยวชาญที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ของ สมศ. เพื่อรับรองคุณภาพการดำเนินงานตามผลการรายงานการประเมินภายในของสถานศึกษาเพื่อให้มีการพัฒนาคุณภาพที่สามารถสนองตอบความต้องการของชุมชนท้องถิ่นและสังคมในระดับประเทศได้ โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้
1. เพื่อตรวจสอบ ยืนยันสภาพจริงในการดำเนินงานของสถานศึกษาและประเมินคุณภาพการศึกษาตามมาตรฐานการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ ตามกรอบแนวทางและวิธีการที่ สมศ. กำหนดและสอดคล้องกับระบบการประกันคุณภาพของสถานศึกษาและหน่วยงานต้นสังกัด
2. เพื่อให้ได้ข้อมูลซึ่งสะท้อนให้เห็นจุดเด่น-จุดด้อยของสถานศึกษา เงื่อนไขของความสำเร็จและสาเหตุของปัญหา
3. เพื่อช่วยเสนอแนะแนวทางปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพการศึกษา แก่สถานศึกษาและหน่วยงานต้นสังกัด
4. เพื่อส่งเสริมให้สถานศึกษามีการพัฒนาคุณภาพและประกันคุณภาพภายในอย่างต่อเนื่อง
5. เพื่อรายงานผลการประเมินคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษาต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสาธารณชน
โดยคาดหวังว่าเมื่อผ่านกระบวนการประกันคุณภาพภายนอกแล้ว สถานศึกษาจะมีการพัฒนาเข้าสู่เกณฑ์มาตรฐานและพัฒนาตนเองให้เต็มตามศักยภาพอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเพิ่มความมั่นใจการคุ้มครองประโยชน์ให้ผู้รับบริการทางการศึกษาว่าสถานศึกษาได้จัดการศึกษามุ่งสู่
คุณภาพตามมาตรฐานการศึกษาที่เน้นให้ผู้เรียนเป็นคนดี มีความสามารถและมีความสุข นอกจากนี้สถานศึกษาและหน่วยงานที่กำกับดูแล รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและชุมชนท้องถิ่น มีข้อมูลที่จะช่วยตัดสินใจ ในการวางแผนและดำเนินการเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษาให้เป็นไปในทิศทางที่ต้องการและบรรลุเป้าหมายที่วางไว้
สำหรับกระบวนการดำเนินงานการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา ประกอบด้วยกิจกรรมต่าง ๆ ดังนี้
1. การเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร และทรัพยากรอื่น ๆ รวมทั้งตั้งคณะทำงานการประเมินผลภายในสถานศึกษาและกำหนดบทบาทหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ
2. การศึกษาสภาพและผลการดำเนินงานของสถานศึกษา
3. การทำความเข้าใจกับบุคลากรในสถานศึกษาเกี่ยวกับสภาพและผลการดำเนินงานของสถานศึกษา
4. การกำหนดวัตถุประสงค์ของการประเมิน มาตรฐานและตัวบ่งชี้ที่ใช้ในการประเมิน
5. การกำหนดกระบวนการประเมิน
6. การกำหนดเกณฑ์การประเมิน
7. การกำหนดวิธีการที่ใช้ในการประเมิน
8. การวิเคราะห์ข้อมูล

9. การวิเคราะห์จุดแข็งจุดอ่อนของสถานศึกษา
10. แนวทางการพัฒนาสถานศึกษา
11. การทำรายงานผลการประเมินตนเอง
12. การใช้ประโยชน์จากการประเมินตนเอง
ในส่วนของการดำเนินงานการประกันคุณภาพภายนอก เป็นกระบวนการที่คณะ
ผู้ประเมินภายนอกจะรวบรวมและศึกษาข้อมูลจากรายงานผลการประเมินตนเองของสถานศึกษา ซึ่งเสนอต่อ สมศ. แล้วเข้าไปตรวจสอบการประเมินคุณภาพ ของสถานศึกษารวมทั้งให้ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากการประเมินเพื่อให้สถานศึกษาใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพของสถานศึกษาอย่างต่อเนื่อง แล้วจัดทำรายงานผลการประเมินเผยแพร่ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสาธารณชน การประเมินคุณภาพภายนอกจึงประกอบด้วยขั้นตอนใหญ่ ๆ 3 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนก่อนการตรวจเยี่ยมสถานศึกษา ระหว่างการตรวจเยี่ยมสถานศึกษาและหลังการตรวจเยี่ยมสถานศึกษา
การประกันคุณภาพการศึกษาในระยะที่ผ่านมาได้มีการจัดตั้งองค์กรอิสระ คือ สำนักงานรับรองมาตรฐานและการประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์กรมหาชน) หรือ สมศ. เพื่อรับผิดชอบประสานงานการประกันคุณภาพสถานศึกษาทุกระดับ โดยแบ่งการดำเนินงานเป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ คือ การประกันคุณภาพศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นการพัฒนาระบบและเกณฑ์การประเมินคุณภาพภายนอก ใช้มาตรฐาน 27 มาตรฐาน 91 ตัวบ่งชี้ ซึ่งสภาพการดำเนินการประกันคุณภาพ
การศึกษาขั้นพื้นฐานมีความชัดเจนและก้าวหน้าไปมาก โดย สมศ. กำหนดให้ภายในปี 2548
ทุกสถานศึกษาต้องได้รับการประเมินภายนอกรอบแรก ใน 14 มาตรฐาน 53 ตัวบ่งชี้ และการประกันคุณภาพการศึกษาระดับอุดมศึกษา ซึ่งมี 2 ระดับ คือ การประกันคุณภาพการศึกษา
ระดับอุดมศึกษา(ระดับปริญญา) ใช้มาตรฐานในการประเมินภายนอก 8 มาตรฐาน 28 ตัวบ่งชี้และการประกันคุณภาพการศึกษาระดับอุดมศึกษาต่ำกว่าปริญญาใช้มาตรฐานในการประเมินภายนอก 8 มาตรฐาน 30 ตัวบ่งชี้ ปัจจุบันการดำเนินการประกันคุณภาพการศึกษาระดับอุดมศึกษา กำลังดำเนินไปอย่างมีหลักการเป็นระบบโดย สมศ. มีแผนว่าในรุ่นแรกจะทำการประเมินสถาบันอุดมศึกษา จำนวน 150 แห่ง โดยเป็นสถาบันอุดมศึกษาระดับต่ำกว่าปริญญา จำนวน 100 แห่ง และสถาบันการศึกษาอุดมศึกษาระดับปริญญา จำนวน 50 แห่ง
การประกันคุณภาพการศึกษาซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหญ่สำหรับวงการศึกษาไทย ในระยะเริ่มต้นอาจมีปัญหาการดำเนินงานหลายประการ ปัญหาที่สำคัญ ๆ เช่น ปัญหาด้านวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการประกันคุณภาพการศึกษาของผู้เกี่ยวข้อง ปัญหาเกี่ยวกับเทคนิควิธีการประเมิน รวมทั้งปัญหาด้านความพร้อมของปัจจัยเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานประกันคุณภาพการศึกษาในสถานศึกษา สภาพปัญหาจะมีมากน้อยแปรเปลี่ยนไปตามสภาวะแวดล้อมของสถานศึกษาแต่ละแห่ง
การดำเนินการประกันคุณภาพการศึกษาในประเทศไทย ได้ผ่านมาระยะหนึ่งท่ามกลางความตื่นตัวเป็นอย่างมากของสถานศึกษา หากพิจารณาสภาพและแนวโน้มของการประกันคุณภาพการศึกษา ซึ่งสถานศึกษาต่าง ๆจะต้องเข้าสู่ยุคของการแข่งขันแบบเสรีมากขึ้น ทุกหน่วยงานจะต้องเน้นการประกันคุณภาพ เพื่อความอยู่รอดและเพิ่มประสิทธิภาพของสถานศึกษาของตน หน่วยงานทางการศึกษาให้ความสำคัญต่อการประกันคุณภาพการศึกษามากขึ้น ผู้เกี่ยวข้องมีการใช้ประโยชน์จากผลประเมินมากขึ้น การดำเนินงานประกันคุณภาพการศึกษาจะเข้าไปสู่หน่วยงานที่เล็กลง มีการพัฒนาระบบประกันคุณภาพให้เหมาะสมกับแต่ละหน่วยงานชุมชนเข้ามามีบทบาทในการดำเนินงานประกันคุณภาพมากขึ้น เป็นผลดีต่อการระดมทรัพยากรที่มีในท้องถิ่นมาใช้ในการพัฒนาการจัดการศึกษา
สรุป ที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า การประกันคุณภาพการศึกษาเป็นกิจกรรมหรือแนวปฏิบัติ เพื่อควบคุมคุณภาพการศึกษา เพื่อพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาทุกระดับ ประกอบด้วยการประกันคุณภาพภายในและการประกันคุณภาพภายนอก ในการประกันคุณภาพการศึกษา ให้มีการจัดตั้งองค์กรอิสระ คือ สำนักงานรับรองมาตรฐานและการประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์กรมหาชน) หรือ สมศ. เพื่อรับผิดชอบประสานงานการประกันคุณภาพสถานศึกษาทุกระดับมีการกำหนดมาตรฐานและตัวบ่งชี้เพื่อให้สถานศึกษาใช้เป็นมาตรฐานในการประเมิน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของสถานศึกษาของตน สถานศึกษาต่าง ๆ ให้ความสำคัญกับการประกันคุณภาพมากขึ้น เริ่มมีการใช้ประโยชน์จากผลการประเมินมากขึ้น มีการพัฒนาการประกันคุณภาพให้เหมาะสมกันแต่ละหน่วยงาน

ปัญหาของการประเมิน

บทความ เรื่อง ปัญหาของการประเมินโดยทั่วไป

การประเมินเป็นกระบวนการกำหนดคุณค่าของสิ่งที่สนใจด้วยการสรุปอ้างอิงจากสิ่งที่สังเกตได้โดยตรงที่เป็นตัวบ่งชี้คุณค่านั้น เพื่อนำมาเปรียบเทียบกับเกณฑ์มาตรฐานที่ใช้ตัดสินคุณค่าภายใต้บริบทที่ศึกษา การประเมินจึงเป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นโดยกรอบของบริบทที่มีความเฉพาะเพื่อสนองตอบต่อความต้องการใช้สารสนเทศของผู้ที่เกี่ยวข้อง
(ศิริชัย กาญจนวาสี 2537:116-117)
ปัญหา หมายถึง ข้อสงสัย ข้อโต้แย้ง การเข้าใจผิด
ดังนั้นปัญหาของการประเมินโดยทั่วไป จึงหมายถึง ข้อโต้แย้ง ประเด็นปัญหาที่ยังไม่มีข้อยุติและอุปสรรคเกี่ยวกับการประเมิน ซึ่งจะกล่าวถึงประเด็นปัญหาด้านต่างๆ ดังต่อไปนี้

1.การวางแผนการบริหารและการจัดการประเมิน
การวางแผนเป็นกระบวนการเกี่ยวกับการกำหนดทิศทางหรือกรอบของการดำเนินงานซึ่งจะนำไปสู่การบรรลุวัตถุประสงค์/เป้าหมายของการประเมิน การวางแผนเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการบริหารและการจัดการในการประเมิน ซึ่งประกอบด้วยกิจกรรมที่ต้องกระทำอย่างต่อเนื่อง แผนที่ดีควรมีองค์ประกอบพื้นฐานที่สำคัญ 5 ประการ คือ 1)วัตถุประสงค์/เป้าหมายของการดำเนินงาน 2)ส่วนที่แสดงถึงการกระทำหรือกิจกรรมที่นำไปสู่การบรรลุวัตถุประสงค์/เป้าหมายที่กำหนดไว้ 3)การกำหนดทรัพยากรที่จะใช้ในการดำเนินงาน 4)การกำหนดวิธีการนำแผนไปใช้
5)การกำหนดวิธีควบคุมหรือการประเมินประสิทธิภาพของแผนเพื่อนำผลไปใช้ในการปรับเปลี่ยนแผนการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
การบริหารและการจัดการเป็นการทำงานของคณะบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ที่ร่วมกันปฏิบัติงานให้บรรลุวัตถุประสงค์/เป้าหมายของการดำเนินงาน ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับวิธีการบริหารและการจัดการในการประเมินประกอบด้วย 4 องค์ประกอบหลัก คือ 1)บุคลากร/ทีมงาน (Man) 2)งบประมาณที่ใช้ในการดำเนินงาน (Money) 3)ทรัพยากรที่ใช้ในการดำเนินงาน (Materials) 4)การจัดการ (Management)
ดังนั้นการวางแผนการบริหารและการจัดการประเมินจึงป็นวิธีการดำเนินงานประเมินกิจกรรมหรือโครงการอย่างเป็นระบบตามแผนงานที่กำหนด เพื่อให้การดำเนินงานประเมินบรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีองค์ประกอบในการดำเนินงาน 4 องค์ประกอบ คือ 1)บุคลากร/ทีมงาน 2)งบประมาณที่ใช้ในการดำเนินงาน
3)ทรัพยากรที่ใช้ในการดำเนินงาน 4)การจัดการ
โดยทั่วไป แนวทางในการวางแผนการบริหารและการจัดการประเมินจะเกี่ยวข้องกับการวางแผนการบริหารและการจัดการในเรื่องต่อไปนี้
1. การจัดตั้งทีมงาน
ในการจัดตั้งทีมงานเพื่อมาดำเนินงานในการบริหารและการจัดการประเมินนั้น ควรมีการระบุบทบาทหน้าที่ของการดำเนินงานแต่ละคนอย่างชัดเจน ต้องคิดถึงองค์ประกอบของการทำงานเป็นกลุ่มให้ประสบความสำเร็จ เช่น ควรมีเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ร่วมกัน มีการกระจายงาน มีผู้นำทีมที่ดีมีวิสัยทัศน์และความร่วมมือร่วมใจกันทำงาน
2. การกำหนดวัตถุประสงค์หรือสิ่งที่ต้องการประเมิน อาจพิจารณาให้เป็น 2 กรณี
กรณีที่ 1. ถ้าโครงการมีกำหนดวัตถุประสงค์ในการประเมินโครงการไว้แล้ว คณะกรรรมการพิจารณาร่วมกันว่าวัตถุประสงค์มีอะไรบ้าง มีความเหมาะสมหรือไม่ ถ้าพบว่าบางข้อไม่เหมาะสมก็ต้องดำเนินการพิจารณาปรับปรุง
กรณีที่ 2. ถ้าโครงการไม่มีวัตถุประสงค์ในการประเมินโครงการไว้ คณะกรรมการต้องพิจารณากำหนดวัตถุประสงค์ของการประเมินขึ้น
3. การกำหนดแนวคิดหรือเทคนิคที่จะใช้ในการบริหารและการจัดการประเมิน จะเป็นแนวทางให้ทีมงานสามารถกำหนดวิธีการบริหารและการจัดการประเมินได้อย่างมีประสิทธิภาพ
4. การตรวจสอบความต้องการใช้ข้อมูลของผู้ที่เกี่ยวข้อง ผู้ประเมินต้องศึกษาความต้องการใช้ข้อมูลของผู้บริหาร หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้จะได้นำผลที่ได้มาใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจเกี่ยวกับการวางแผนการบริหารและการจัดการประเมิน
5. การจัดสรรงบประมาณที่ใช้ในการประเมิน งบประมาณหรือค่าใช้จ่ายในการประเมินเป็นสิ่งสำคัญ สำหรับประสิทธิภาพของการประเมินโครงการเพราะการกำหนดงบประมาณที่ผิดพลาด อาจทำให้ผู้ประเมินไม่สามารถดำเนินการประเมินได้ครบถ้วนตามแผนที่กำหนด ดังนั้นจึงต้องกำหนดงบประมาณด้วยความรอบคอบโดยคำนึงถึงค่าใช้จ่ายที่จะต้องใช้ในขั้นตอนต่าง ๆ ของการประเมินและตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในปฏิทินการปฏิบัติงานด้วย
6. การจัดทำกรอบโครงการประเมิน/ปฏิทินงาน กรอบโครงการประเมิน/ปฏิทินงานจะเป็นเข็มทิศให้ทีมงานประเมินดำเนินการประเมินไปในทิศทางที่ถูกต้องและเสร็จตามระยะเวลาที่กำหนด ปฏิทินงานที่เขียนไว้ในโครงการประเมินจะต้องครอบคลุมกิจกรรมทั้งหมดที่จะต้องดำเนินภายในโครงการประเมิน
ปัญหาที่เกิดจากการวางแผนการบริหารและการจัดการประเมิน มีดังนี้
1. ปัญหาของการกำหนดวัตถุประสงค์ของการประเมินที่พบคือ
- วัตถุประสงค์กว้างเกินไป ไม่ชัดเจน ไม่สามารถบอกได้ว่าคืออะไร อาจก่อให้เกิดปัญหาในการกำหนดกิจกรรม
- การมีหลายวัตถุประสงค์ ในการกำหนดวัตถุประสงค์ของการแผนการบริหารและการจัดการประเมิน เป็นหน้าที่ของทีมงานที่จะต้องช่วยกันพิจารณาว่าต้องการวัตถุประสงค์ใดบ้าง การมีหลายวัตถุประสงค์ทำให้ยากต่อการตัดสินใจของคณะทำงานซึ่งในบางครั้งทีมงานอาจแก้ปัญหาโดยวิธีการย่น ย่อวัตถุประสงค์ที่ซ้ำซ้อนให้เหลือเพียงวัตถุประสงค์เดียว ซึ่งในบางครั้งการย่น ย่อ ของวัตถุประสงค์อาจมีความหมายแตกต่างไปจากวัตถุประสงค์เดิมก็ได้
2. ปัญหาของคณะผู้ทำหน้าที่ประเมิน
จะต้องมีความเชี่ยวชาญ ความพร้อม และความร่วมมือของคณะผู้ประเมินมีประสบการณ์และเทคนิคการบริหารการจัดการและการประเมิน
3. ปัญหาการกำหนดทางเลือกที่ใช้ในการบริหารและการจัดการประเมิน
ในการกำหนดทางเลือกผู้วางแผนอาจไม่มั่นใจว่าเทคนิควิธีการบริหารการจัดการหรือกิจกรรมสำหรับวัตถุประสงค์ดังกล่าวมีอะไรบ้าง และควรเลือกใช้เทคนิคหรือกิจกรรมใด การที่ผู้วางแผนไม่พิจารณาทางเลือกอื่น ๆ ก็อาจเป็นจุดอ่อนของการบริหารและการจัดการประเมิน แต่ในบางครั้งการพิจารณาทางเลือกอาจมีปัญหาเกี่ยวกับกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้องจึงต้องตระหนักถึงกฎระเบียบในทางปฏิบัติจริงด้วย
4. ปัญหาเรื่องการวางแผนและเตรียมการประเมินของหน่วยงาน
การวางแผนและเตรียมการประเมินของหน่วยงานมีความสำคัญต่อการประเมิน หากหน่วยงานไม่มีการวางแผนและเตรียมการประเมินอาจมีผลทำให้การประเมินขาดประสิทธิภาพ หรืออาจถูกละเลยไม่ได้รับการประเมิน
5. นอกจากนี้ยังมีปัญหาที่เกิดจากองค์ประกอบภายนอก ดังนี้
5.1 ปัญหาการสนับสนุนจากฝ่ายบริหาร ในการประเมินใด ๆ ก็ตาม หากขาดการสนับสนุนของฝ่ายบริหารในด้านต่าง ๆ เช่น กำลังคน งบประมาณ ความร่วมมือ หรือวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ก็อาจส่งผลให้การบริหารการจัดการในการประเมินมีปัญหาและอุปสรรค
5.2 ปัญหาเจตคติและความร่วมมือของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการประเมิน หากกลุ่มผู้ประเมินและผู้ใช้ผลการประเมินมีความเข้าใจ มีเจตคติที่ดีต่อการประเมิน และมีความเชื่อมั่นในผลที่จะได้จากการประเมิน ก็จะส่งผลต่อการให้ความร่วมมือในการดำเนินงาน
5.3 ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจและการเมือง
-ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจเป็นปัญหาสำคัญประการหนึ่งที่จะทำให้การดำเนินการการบริหารการจัดการในการประเมินเกิดปัญหาได้ในภาวะที่ประเทศชาติประสบปัญหาทางเศรษฐกิจซึ่งจะมีผลกระทบต่องบประมาณที่จัดสรรให้กับการบริหารการจัดการประเมินโดยตรงซึ่งจะเป็นปัจจัยที่สำคัญที่ส่งผลให้ไม่สามารถบริหารจัดการประเมินให้บรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ได้
- ปัญหาทางด้านการเมือง ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะเป็นอุปสรรคต่อการบริหารและการจัดการประเมินโดยเฉพาะโครงการที่ต้องผ่านความเห็นชอบจากนักการเมือง ซึ่งอาจมีบางกลุ่มไม่ได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์ก็อาจจะขัดค้านหรือไม่สนับสนุน ไม่อำนวยความสะดวกในกิจกรรมใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการ ซึ่งอาจส่งผลโดยตรงต่อการบริหารและการจัดการประเมิน
เพื่อให้การวางแผนการบริหารและการจัดการประเมินดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ ได้มีการนำเอาเทคนิคหรือรูปแบบที่เกี่ยวข้องกับการวางแผนการประเมินต่าง ๆ เช่น PERT , CPM หรือเทคนิคการบริหารแบบวงจรคุณภาพ PDCA มาประยุกต์ใช้ในการประเมิน นอกจากนี้ยังมีการนำคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยในการพัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่อให้เป็นแหล่งข้อมูลพื้นฐานในการประเมิน



2. การประยุกต์ใช้โมเดลประเมิน
จากแนวคิดและทฤษฎีที่ได้รับการพัฒนามาหลายยุคหลายสมัย นักประเมินหลายท่านได้พยายามเสนอรูปแบบการประเมินไว้หลายลักษณะ
1. การประยุกต์แนวคิดของ สตัฟเฟิลบีม ( Daneil L.Stufflebeam , 1967) ได้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับรูปแบบการประเมินเรียกว่า ซิปโมเดล (CIPP Model) เป็นการประเมินที่เป็นกระบวนการต่อเนื่อง โดยมีจุดเน้นที่สำคัญ คือ ใช้ควบคู่กับการบริหารโครงการเพื่อหาข้อมูลประกอบการตัดสินใจอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา วัตถุประสงค์ของการประเมิน คือ การให้สารสนเทศเพื่อการตัดสินใจโดยมุ่งประเมิน 4 ด้าน คือ 1) การประเมินสภาพแวดล้อม (Context Evaluation) 2) การประเมินปัจจัยเบื้องต้น (Input Evaluation) 3) การประเมินกระบวนการ (Process Evaluation) 4) การประเมินผลผลิต (Product Evaluation)
2. การประยุกต์แนวคิดของ เคอร์ก แพททริค (Donald L.Kirkpatrick, 1975) ได้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับการฝึกอบรม และการประเมินผลการฝึกอบรมว่า การฝึกอบรมเป็นการช่วยเหลือบุคลากรให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในการฝึกอบรมใด ๆ ควรจะให้มีการประเมินผลการฝึกอบรม ซึ่งถือเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยให้รู้ว่าการจัดโปรแกรมการฝึกอบรมมีประสิทธิภาพเพียงใด ซึ่งมีแนวทางในการดำเนินการประเมินประสิทธิผลของการฝึกอบรม 4 ลักษณะ คือ
2.1 ประเมินปฏิกริยาตอบสนอง (Reaction Evaluation) เป็นการตรวจสอบความรู้สึกหรือความพอใจของผู้เข้ารับการอบรม
2.2 ประเมินการเรียนรู้ (Learning Evaluation) เป็นการตรวจสอบผลการเรียน โดยตรวจสอบให้ครอบคลุมทั้งด้านความรู้ทักษะ และเจตคติ
2.3 การประเมินพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปหลังการอบรม เป็นการตรวจสอบว่าผู้ผ่านการฝึกอบรมได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปตามความคาดหวังของโครงการหรือไม่
2.4 ประเมินผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นต่อองค์กร (Result Evaluation) เป็นการตรวจสอบว่าผลจากการอบรมได้เกิดผลดีต่อองค์กรหรือเกิดผลกระทบต่อองค์กรในลักษณะใดบ้าง คุณภาพขององค์กรดีขึ้นหรือมีคุณภาพขึ้นหรือไม่
3. การประยุกต์แนวคิดของ ไทเลอร์ ( Tyler, 1943) ได้เสนอแนวคิดว่าจุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้อย่างชัดเจนรัดกุมและเจาะจงแล้วจะเป็นแนวทางช่วยให้การประเมินได้เป็นอย่างดี โดยเน้นการกำหนดวัตถุประสงค์ของโครงการให้อยู่ในรูปของวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม และประเมินความสำเร็จของวัตถุประสงค์เหล่านั้น โดยมีแนวคิดว่าโครงการประสบความสำเร็จหรือไม่ดูได้จากผลผลิตของโครงการว่าตรงตามจุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้แต่แรกหรือไม่ แบบจำลองการประเมินของไทเลอร์ในชั้นต้นเหมาะสำหรับประยุกต์ใช้ในการประเมินรวมสรุป
ในปี 1986 ไทเลอร์ได้เสนอกรอบความคิดของการประเมินใหม่โดยแบ่งการประเมินออกเป็น 6 ส่วน คือ 1) การประเมินวัตถุประสงค์ 2) การประเมินแผนการเรียนรู้ 3) การประเมินเพื่อชี้แนะแนวทางในการพัฒนาโปรแกรม 4) การประเมินการนำโปรแกรมไปปฏิบัติ 5) การประเมินผลลัพธ์ของโปรแกรม 6) การติดตามและประเมินผลกระทบ

3. การออกแบบวิจัย/ประเมิน
การออกแบบประเมิน คือ การวางแผนเพื่อกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินโดยครอบคลุมวัตถุประสงค์การประเมิน ตัวบ่งชี้ของการประเมิน แหล่งข้อมูล เครื่องมือที่ใช้ แนวทางการรวบรวมข้อมูล แนวทางการวิเคราะห์ข้อมูล และเกณฑ์การตัดสินผลการประเมิน ทั้งนี้เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลสารสนเทศที่จะตอบคำถามของการประเมินได้ถูกต้องและช่วยให้ผู้ประเมินมองเห็นแนวทางของการประเมินที่ชัดเจนและตรงกัน
ซึ่งปัญหาที่พบในการออกแบบประเมินแบ่งได้เป็น 2 ด้าน คือ
1) ปัญหาด้านการออกแบบเครื่องมือเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวข้องกับ
- การออกแบบเครื่องมือวัด กระบวนการออกแบบและการพัฒนาเครื่องมือวัดที่มักไม่มีการตรวจสอบวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องเพื่อนำมาใช้ในการกำหนดกรอบแนวคิดเชิงทฤษฎีในด้านโครงสร้างหรือเนื้อหาของเครื่องมือ
- ข้อคำถามหรือข้อความที่ใช้ไม่เหมาะสม ไม่มีความจำเป็นและไม่สะดวกในการตอบ
- การวิเคราะห์คุณภาพเครื่องมือมักทำโดยปราศจากความเข้าใจ ทำตามขั้นตอนที่ดำเนินงานต่อกันมา
- มีการกำหนดเกณฑ์การแปลความหมายผลการวัดที่ทำตามกันมาโดยไม่เข้าใจอย่างแท้จริง
2) ปัญหาด้านการเก็บรวบรวมข้อมูล เกี่ยวข้องกับ
- จำนวนแหล่งข้อมูล
- การนำเครื่องมือเก็บรวบรวมข้อมูลไปใช้
- การตรวจสอบข้อมูลในด้านความถูกต้องและครบถ้วน
- การประเมินทางการศึกษา มักใช้เครื่องมือที่ครูสร้างขึ้นเองโดยปราศจากการวิเคราะห์คุณภาพ การแยกการเรียนการสอนและการประเมินออกจากกัน
- การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการประเมิน
ในการแก้ไขปัญหานั้น ต้องพิจารณาตามความเหมาะสมและศึกษาให้เข้าใจในเนื้อหาและวิธีการดำเนินงานอย่างถ่องแท้ และนอกจากนี้ยังพบว่า ผู้ประเมินไม่ให้ความสำคัญกับผู้เกี่ยวข้องที่จะต้องใช้ข้อมูลโดยตรง ไม่มีปฏิสัมพันธ์ทำความเข้าใจกับผู้ใช้สารสนเทศจากการประเมิน ทำให้การประเมินไม่ตอบสนองวัตถุประสงค์ของผู้ใช้สารสนเทศ

4. การกำหนดกรอบแนวคิดทฤษฎีในการวิจัย/ประเมิน
ในการประเมินผู้ประเมินจะต้องเข้าใจธรรมชาติของสิ่งที่มุ่งประเมิน สามารถกำหนดวัตถุประสงค์และจุดมุ่งหมายของการประเมินได้ ในการกำหนดคุณค่าของสิ่งใด ๆ อาจดำเนินการได้ 2แนวทาง คือ 1) การตัดสินคุณค่าด้วยหลักเหตุผลและประสบการณ์ส่วนตัว 2) หลักข้อเท็จจริงที่ปรากฎและหลักเชิงประจักษ์ โดยศึกษาจากตัวบ่งชี้เปรียบเทียบผลการวัดกับเกณฑ์หรือมาตรฐานที่กำหนด ทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดคุณค่าที่เป็นที่รู้จักและเป็นที่ยอมรับมีหลายทฤษฎีที่สำคัญคือ ทฤษฎีเอกมิติของคุณค่าและทฤษฎีพหุมิติของคุณค่า
ปัญหาที่เกิดจากการกำหนดกรอบแนวคิดทฤษฎีในการวิจัย/ประเมิน คือ ขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติที่มุ่งประเมิน เมื่อไม่เข้าใจก็ทำให้การกำหนดปัญหาการประเมิน วัตถุประสงค์การประเมินและจุดมุ่งหมายการประเมินไม่ชัดเจน ส่งผลถึงการกำหนดกรอบแนวคิดทฤษฎีการประเมินทำได้ยาก

5. การนิยามตัวแปร/กำหนดตัวบ่งชี้ของตัวแปรที่ศึกษา
ในการนิยามตัวแปรจะต้องศึกษาแนวคิดทฤษฎีและงานวิจัยที่เกี่ยวกับตัวแปรที่ต้องการวัดแล้วให้คำจำกัดความ และกำหนดขอบเขตของตัวแปรโดยให้ครอบคลุมวัตถุประสงค์ของการประเมิน
ส่วนการกำหนดตัวบ่งชี้ของตัวแปรที่ศึกษานั้น ตัวบ่งชี้ที่ดีจะต้องมีความสอดคล้องกับประเด็นที่ต้องการวัด เป็นรูปธรรมที่สามารถวัดและสังเกตได้อย่างชัดเจน มีความน่าเชื่อถือได้และมีความไวต่อความแตกต่าง ดังนั้นในการกำหนดตัวบ่งชี้จึงต้องวิเคราะห์วัตถุประสงค์ของการประเมินข้อความในแต่ละวัตถุประสงค์ของการประเมินจะช่วยชี้แนะแนวทางในการกำหนดตัวบ่งชี้
ปัญหาที่เกิดจากการนิยามตัวแปร/กำหนดตัวบ่งชี้ของตัวแปรที่ศึกษา ได้แก่ การกำหนดตัวบ่งชี้ไม่สอดคล้องกับประเด็นที่ต้องการวัดหรือสอดรับอย่างเป็นเหตุเป็นผลกับวัตถุประสงค์ของการประเมิน ข้อมูลสารสนเทศที่ได้จากการประเมินนั้นก็ไม่มีประโยชน์ใด ๆ มีวิธีการหนึ่งที่จะช่วยในการกำหนดตัวบ่งชี้ได้อย่างสอดคล้อง คือ การจัดทำปัจจัยแห่งความสำเร็จในเรื่องนั้น ๆ ( Critical Success Factors : CSF)โดยการนำวัตถุประสงค์ของนโยบาย แผนงานหรือโครงการมาวาง แล้ววิเคราะห์ว่าการที่วัตถุประสงค์นั้นสำเร็จมีปัจจัยประกอบอะไรบ้าง เมื่อกำหนดได้แล้วจึงมาวิเคราะห์ตัวชี้วัดของปัจจัยแห่งความสำเร็จนั้น ๆ (พสุ เดชะรินทร์ 2546: 53)

6. การวัดตัวแปร/ตัวบ่งชี้และเครื่องมือที่ใช้ในการวัด
ผู้ประเมินต้องพิจารณาถึงตัวแปร/ตัวบ่งชี้ที่ต้องการวัดหรือประเมินว่าเป็นลักษณะใด เช่น ข้อเท็จจริง ความรู้ ความคิดเห็น เจตคติ ความรู้สึก จากนั้นกำหนดชนิดของเครื่องมือวัดที่เหมาะสมแล้วดำเนินการสร้างเครื่องมือวัดให้เป็นไปตามเครื่องมือแต่ละชนิดจนแน่ใจว่าเครื่องมือวัดที่สร้างขึ้นมีคุณภาพ เช่น ความตรง ความเที่ยง อำนาจจำแนก แล้วจึงนำไปเก็บรวบรวมข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่ได้วางแผนไว้
ปัญหาที่เกิดจากการวัดตัวแปร/ตัวบ่งชี้และเครื่องมือที่ใช้ในการวัด มีดังนี้
1. การเลือกเครื่องมือวัดที่ไม่เหมาะสม ทำให้ได้ข้อมูลที่ไม่มีคุณภาพ
2. การระบุตัวแปรที่วัดได้ไม่ชัดเจน ไม่มีความเป็นรูปธรรมทำให้ยากต่อการนำไปสร้างข้อคำถาม และมาตรวัด
3. การกำหนดตัวแปร และการวัดที่ไม่เหมาะสมขาดการวิเคราะห์คุณภาพที่ครบถ้วน

7. การวิเคราะห์ข้อมูล การนำเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูล
การวิเคราะห์ข้อมูลในการประเมินมี 2 ลักษณะ คือ 1) การวิเคราะห์เนื้อหาและ 2) การวิเคราะห์โดยใช้สถิติ สถิติที่นำมาใช้ในการวิเคราะห์มีทั้งสถิติเชิงบรรยาย และสถิติอ้างอิง ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการประเมิน และลักษณะของข้อมูล สถิติเชิงบรรยายที่นิยมใช้กันในการประเมินได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และในการแปลผล สถิติประเภทนี้จะแปลผลเทียบกับเกณฑ์ที่ผู้ประเมินกำหนดขึ้น สถิติอ้างอิงที่นิยมใช้ ได้แก่ สถิติทดสอบเกี่ยวกับผลสำเร็จของโครงการกับเกณฑ์ หรือสถิติที่ใช้เปรียบเทียบผลสำเร็จของโครงการกับเกณฑ์โดยใช้สูตร t-test, z-test เป็นต้น ดังนั้นในการเลือกใช้สถิติวิเคราะห์ข้อมูลจึงต้องคำนึงถึงข้อตกลงเบื้องต้นของการใช้สถิติ จุดมุ่งหมายของการประเมิน ประเภทของข้อมูลและจำนวนกลุ่มตัวอย่างที่ศึกษา
ส่วนการนำเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูลโดยทั่วไปมี 3 รูปแบบ คือ 1) แบบข้อความ 2) แบบตาราง 3) แบบแผนภูมิ แต่ละวิธีมีการนำเสนอข้อมูลแตกต่างกัน ดังนั้นนักประเมินจึงต้องทำการศึกษารูปแบบในการนำเสนอว่ามีลักษณะอย่างไร ส่วนวิธีการนำเสนอข้อมูลนั้น มีหลักในการนำเสนอที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับลักษณะข้อมูลเป็นสำคัญการเลือกวิธีการนำเสนอที่เหมาะสมทำให้งานการประเมินน่าอ่านและเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้ผลการประเมิน และนอกจากนี้ควรเสนอผลการประเมินให้ตรงไปตรงมาและเรียงตามวัตถุประสงค์ของการประเมินสั้นกระชับ
ปัญหาที่เกิดจากการวิเคราะห์ข้อมูล มีดังนี้
1) การใช้สถิติไม่เหมาะสมกับลักษณะของข้อมูล
2) การใช้สถิติไม่เหมาะสมกับการกระจายของข้อมูล
3) การใช้สถิติไม่เหมาะสมกับขนาดของกลุ่มตัวอย่าง
4) การใช้สถิติไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการประเมิน
ในส่วนการนำเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูล มีปัญหาดังนี้
1) การนำเสนอผลการประเมินไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ของการประเมิน
2) การนำเสนอผลการประเมินไม่เสนอผลเรียงตามวัตถุประสงค์ของการประเมิน
3) การเสนอตารางไม่เหมาะสม เช่นเขียนชื่อตารางไม่ครอบคลุมค่าสถิติที่จะนำเสนอ
4) การแปลผลจากตาราง ผู้ประเมินบางคนบรรยายค่าสถิติทุกค่าในตารางจึงทำให้ยืดเยื้อ
5) การแปลผลผิดโดยเฉพาะการแปลผลจากสถิติทดสอบ
6) เสนอผลการประเมินโดยไม่คำนึงถึงความสามารถในการรับรู้ของผู้ใช้ผลการประเมิน
7) ควรเสนอผลการประเมินต่อผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจ


8. การเขียนรายงาน
เป็นการนำเสนอผลการประเมินที่เป็นลายลักษณ์อักษรใช้ในการเผยแพร่และอ้างอิงได้ ดังนั้น ผู้เขียนรายงานการประเมินจึงควรมีความรู้เกี่ยวกับเทคนิค วิธีการเขียนตามหลักวิชาการและครอบคลุมส่วนประกอบทั้ง ส่วนนำ ส่วนเนื้อหา และส่วนอ้างอิง
ปัญหาที่เกิดจากการเขียนรายงาน คือ เขียนรายงานไม่ถูกต้องไม่ครบถ้วน ขาดความรู้ความชำนาญและทักษะในการเขียนรายงาน